UNC YG
โรคจอประสาทตาเสื่อม
โรค จอประสาทตาเสื่อม เป็นโรคที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณจุดกลางรับภาพของจอประสาทตาพบมากในช่วงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปและเป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญของการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุ ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นเฉพาะตรงกลางภาพ โดยภาพด้านข้างจะยังเห็นได้ดีอยู่ เช่น คุณอาจเห็นขอบของนาฬิกา แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเวลาอะไร โรคจอ ประสาทตาเสื่อมจะไม่ทำให้การมองเห็นมืดสนิทไปทั้งหมด แม้แต่ในรายที่เป็นมากผู้ป่วยจะยังพอมองเห็นทางด้านขอบข้างของภาพ และสามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองได้บ้าง
สาเหตุ ของโรคจอประสาทตาเสื่อม
มีหลายภาวะที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ เช่น คนที่มีสายตาสั้นมากๆ (Degenerative or Pathologic Myopia) หรือโรคติดเชื้อบางชนิด แต่สาเหตุส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ จึงเชื่อว่าเป็นขบวนการเสื่อมสภาพของร่างกาย (Aging Process) แต่ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ผลการศึกษาวิจัยจากหลายสถาบันพบว่า มีปัจจัยเสี่ยงหลายด้านที่ส่งผลต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ (Aged related macular degeneration) ได้แก่
อายุ พบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
พันธุกรรม มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของคนที่เป็นโรคกับญาติสายตรง ผู้เกี่ยวข้องควรได้รับการตรวจเช็คจอประสาทตาทุกๆ 2 ปี
เชื้อชาติ/ เพศ พบอุบัติการของโรคมากที่สุดในคนผิวขาว (Caucasian) เพศหญิง อายุมากกว่า 60 ปี
บุหรี่ มีหลักฐานทางการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอย่างชัดเจน
ความดันเลือดสูง ผู้ป่วยที่ต้องทานยาลดความดันเลือด และมีระดับของไขมัน Cholesterol ในเลือดสูง และระดับ Carotenoid ในเลือดต่ำ มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว (Wet AMD)
วัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมน Estrogen พบว่าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
การรักษา โรคจอประสาทตาเสื่อม
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาด แต่สามารถให้การดูแล รักษา เพื่อหยุดหรือชะลอการดำเนินโรคให้จอประสาทตาเกิดการภาวะเสื่อมช้าที่สุด การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม ชนิดแห้งปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งให้หายขาดได้ ทำได้เพียงการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามมากขึ้น หรือเพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก อีกทั้ง การเสื่อมของจอประสาทตายังดำเนินไปอย่างช้าๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยแนะนำให้มาตรวจเช็คสายตา และควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นเพื่อป้องกันการเสื่อมของจอประสาทตา หรืออาจใช้อุปกรณ์ช่วยต่างๆ สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสายตา
การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม ชนิดเปียก การฉายแสงเลเซอร์ลงบนจอประสาทตา จะยับยั้งหรือชะลออาการผิดปกติของหลอดเลือดที่ทำให้เกิดเลือดออกใต้จอประสาทตาได้ หรือการใช้ยาฉีดเข้าในน้ำวุ้นตา แม้ว่าจะไม่สามารถทำให้การมองเห็นที่สูญเสียไปกลับคืนมา หรือรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยคงสภาพการมองเห็นให้เหลือไว้ได้มากกว่าการที่ไม่ได้รับการรักษา
การป้องกัน โรคจอประสาทตาเสื่อม
ตรวจเช็คสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวมีภาวะจอประสาทตาเสื่อม
งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการได้รับแสง หรือรังสีอัลตราไวโอเลต เป็นระยะเวลานาน
เลือกกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ได้แก่ ผักใบเขียว ผลไม้ และกินวิตามินเสริม
#โรคตา #จอประสาทตาเสื่อม #ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม